Thursday, June 19, 2008

web3.0

การวิเคราะห์บทความเรื่อง Welcome Web3.0!

เว็บ 3.0 เมื่อได้เห็น หรือได้ยินคำนี้แล้ว มีหลายคนคงรู้สึกตกใจ ในเมื่อประเทศไทยเพิ่งจะเข้ามาสู่เว็บ 2.0 เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในช่วงเว็บ 2.0 ทำให้เวลาของยุคนี้มีสั้นกว่าช่วงเว็บ 1.0 อย่างมาก การเกิดเว็บไซต์ที่ให้ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็น พูดคุยโต้ตอบกันมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณข้อมูลที่มีอยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีมากเกินกว่าที่จะจัดการได้ จึงต้องเกิดเว็บ3.0 ขึ้นเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างแม่นยำและตรงเป้าหมาย

ยุคของการพัฒนาเว็บไซต์
เว็บ 1.0 เป็นเว็บที่นำเสนอเพียงข้อมูลที่ผู้สร้างต้องการจะนำเสนอ หากผู้ใช้อยากรู้อะไรก็คลิกเข้าไปดู การค้นหาเว็บไซต์ใหม่ๆ ของผู้ใช้อาศัยการกด Link ไปยังเว็บอื่นๆ ตามที่มีคนสร้างมีการแลกลิงก์กันระหว่างเว็บ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์มาก
เว็บ 1.5 รูปแบบของเว็บไซต์ได้พัฒนาขึ้นมาก มีการสร้างระบบกระทู้ให้ผู้เข้าใช้บริการได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองขึ้นมา และเว็บไซต์สามารถนำข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและเสียงสดๆ ขึ้นบนหน้าเว็บได้
เว็บ 2.0 จะมีลักษณะเรียกว่าเป็นชุมชน มีความสามารถในการแบ่งปันข้อมูล (Share file) ร่วมกันรวมถึงพูดคุยโต้ตอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันมากขึ้น ตลอดจนคนเผยแพร่ข้อมูลไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเว็บ อย่าง วิกิพีเดีย (Wikipedia) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เขียนบทความเข้าไปอย่างอิสระและมีการตรวจสอบกันเอง รวมทั้งการเกิดเว็บ blog ด้วย
เว็บ 3.0 ที่มีความฉลาดล้ำหน้าไปอย่างมาก เป็นการใช้ข้อมูลอธิบายข้อมูล ( Semantic) ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent)

และความฉลาดของมันนี่เองจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และท้าทายเหล่าคนทำเว็บและผู้ใช้

เว็บ 3.0 เป็นแนวคิดที่ได้มาจากเว็บ 2.0 ที่เกิดขึ้นมากมาย ให้เว็บนั้นสามารถจัดการข้อมูลจำนวนมากได้โดยเอาข้อมูลต่างๆที่มีอยู่มาจัดให้อยู่ในรูปแบบ Metadata ที่หมายถึงข้อมูลที่สามารถบอกรายละเอียดได้ ทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเขัาถึงเนื้องหาของเว็บได้ดีขึ้นนั้นเอง

สมัยก่อนคอมพิวเตอร์ไม่เข้าใจว่าแต่ละเว็บคืออะไร เวลาไปค้นหาข้อมูล (Search) ก็ไม่รู้ แต่เว็บ 3.0 จะเป็นการเติมและเพิ่มความหมายเข้าไปในเนื้อหาสาระที่คอมพิวเตอร์ไม่เข้าใจในตอนแรกให้เข้าใจมากขึ้น จนสามารถจะเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาด้วย text ธรรมดา การค้นหาภาพ (Image Search) รวมถึงความสามารถในการค้นหาข้อมูลที่เป็นข้อมูลต่อเนื่อง (Stream line) เช่นคลิป เพลง วีดีโอ ซึ่งเป็นความอัจฉริยะของเว็บยุค 3.0 และ การจะทำให้เว็บไซต์เข้าใจข้อมูลทุกๆ ชิ้นที่อยู่ใน"เวิลด์ ไวด์ เว็บ" (www – world wide web) และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นซึ่งกันและกันได้ จะต้องมีคลังข้อมูลอย่างมหาศาล หรือมี Pattern Recognition จนสุดท้ายเข้าใจว่า Pattern นั้นคืออะไร แล้วไปตรวจสอบว่ารูปไหนคือสิ่งที่เราต้องการ ในการจะค้นหาข้อมูลที่เป็นเช่นนี้ได้เทคโนโลยีในการตัด clip board ต้องก้าวหน้า พร้อมทั้งต้องมี Platform ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างจะเชื่อมโยงถึงกันหมด ข้อมูลจะถูกเชื่อมโยงแบบ many to many ซึ่งหมายความว่าเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย (Network) คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการอ่านและมองเห็นกันมากขึ้น และการมองเห็นนั้นไม่ใช่ผู้คนที่เป็นผู้ใช้ทั่วไป แต่เป็นผู้ชมที่เป็นเว็บเข้ามาศึกษาและหาข้อมูลแทนผู้ใช้ เพื่อนำไปเสนอกับผู้ใช้ต่อไป
ตัวอย่างเช่น บอกว่าอยากไปเที่ยวภูเขาไฟฟูจิ เว็บก็จะ Link ข้อมูลทั้งหมดออกมา ทั้งสายการบิน แพ็กเกจไหนที่ดีที่สุด โรงแรมที่พักต่างๆ อาจรวมถึงความคิดเห็นต่อสถานที่ท่องเที่ยวนั้น หรือที่พักมาให้ด้วย ขณะเดียวกันก็จะเช็คเลยว่าตรงกับตารางเวลาว่างไหม ช่วงไหนที่ควรจะไปเที่ยว ขณะเดียวกันมันก็จะเช็คตารางของเรากับตารางของเพื่อนที่ญี่ปุ่นใน Social Network ว่าว่างช่วงไหนเพื่อจะนัดมาทานข้าวกันได้
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าทุกอย่างจะถูกเชื่อมโยงเข้าหากันหมด ในส่วนข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันก็จะถูกดึงขึ้นมา ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีของเว็บ3.0
การที่เว็บจะทำสิ่งต่างๆที่ยกตัวอย่างมาได้นั้นต้องมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. Artificial intelligence (AI) เป็นความฉลาดเทียมที่สร้างคอมพิวเตอร์ ที่จะเอามาเป็นเครื่องมือช่วยคาดเดาพฤติกรรม วิเคราะห์ความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลนั้นมา ระบบก็จะให้ในสิ่งนั้นๆ ที่ต้องการ

2. Automated reasoning ให้ระบบคอมพิวเตอร์รู้จักการแก้ปัญหาเอง มีการประมวลผล ได้อย่างสมเหตุ พร้อมทั้ง แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า อีกทั้งปรับปรุงระบบเอง โดยอัตโนมัติไปในตัว

3. Cognitive architecture ทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้เหมือนมมนุษย์ โดยการลอกเลียนแบบสมองมนุษย์ ศึกษาการเรียงตัวของเซลล์สมองในสามมิติ ศึกษาการถ่ายเทประจุไฟฟ้า และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเคมีไฟฟ้าในร่างกาย ระหว่างการคิด

4. Composite applications เป็นการผสมผสานบริการ ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น VDOfrog ดึงวิดีโอจาก YouTube มาแสดงได้ เหมือนเป็นวีดิโอของเว็บนั้นเอง

5. Distributed computing คือการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องไป ประมวลผลร่วมกัน โดยใช้ความแตกต่างกันของโครงสร้าง องค์ประกอบฮาร์ดแวร์ หรือซอร์ฟแวร์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคอมพิวเตอร์นั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกัน สามารถเชื่อมโยงกันด้วยอินเตอร์เน็ต

6. Knowledge representation การแทนความรู้ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญที่สุด ก่อนจะสร้างความฉลาดให้ระบบ ได้นั้น ต้องให้ระบบรู้จักการนำความรู้นั้นไปใช้เสียก่อน

7. Ontology คือภาษาที่ใช้เป็นตัวอธิบายข้อมูลเชิงสัมพันธ์ “ข้อมูลที่ใช้อธิบายความหมายของข้อมูล” หรือ Tags นั่นเอง ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น พาหนะ (Vehicle) ที่กำหนดลักษณะของรถยนต์ (Car) ซึ่งรถยนต์ก็อาจจะเป็น ขับเคลื่อน 2 ล้อหรือ 4 ล้อ (2-Wheel Drive, 4-Wheel Drive) ก็ได้ แต่อีกความหมายหนึ่งของ Vehicle ก็อาจหมายถึง เครื่องมือเครื่องใช้ ดังนั้น Tags จะได้เป็น Truck ซึ่งแปลว่าของเล็กๆน้อยๆได้ด้วย



8. Recombinant text ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานเอง ให้มนุษย์สามารถจัดการกับระบบ ในช่วงการทำงานช่วงใดก็ได้ เป็นการทำงานร่วมกัน แต่หากให้คอมพิวเตอร์พัฒนาตัวเองจนมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นเช่นในภาพยนตร์ sci-fi หลายๆเรื่อง

9. Scalable vector graphics (SVG) เป็นภาษามาร์กอัปบนมาตรฐาน XML สำหรับอธิบายกราฟิกแบบเวกเตอร์ 2 มิติ ทั้งที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว แสดงผลบน Browser ที่รองรับได้ Opera, Mozilla Firefox, Safari, Amaya, Konqueror ทำให้เมื่อมีการขยายภาพแล้วภาพจะไม่แตก เป็นประโยชน์ในการทำเว็บไซต์ด้วย ซึ่งหากภาพมีขนาดเล็กจะทำให้การแสดงผลบนเว็บได้รวดเร็วขึ้น


10. Semantic Web คือเป็นเว็บไซต์ ที่มีการเชื่อมโยง สัมพันธ์กับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การเชื่อมโยงของแหล่งข้อมูลนั้น อาจเป็นเครือข่ายเดียวทั่วโลกก็ได้

11. Semantic Wiki เมื่อข้อมูลมีมากจนบางทีไม่รู้ว่าจะค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ด้วย keyword อะไร ดังนั้นถ้าใช้คำค้นหา แบบกว้างๆ แต่มันกำจัดวงแคบๆให้ได้ การค้นหาแบบข้อมูลซ้อนข้อมูล หรือใช้การค้นหาหลายทิศทาง (Vertical Search) ผสมกับความเป็นส่วนตัวเข้าช่วย (Personalize) จะสามารถเข้าถึงข้อมูลลงได้เช่นกัน

12. Software Agents โปรแกรมที่ทำงาน ให้บรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ เช่น GoogleAds ที่จะจัดโฆษณาให้เองอย่างเหมาะสมสำหรับเว็บไซต์ประเภทนั้นๆ

หากจะจัดกลุ่มเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สามารถจัดได้ 5 ประเภทด้วยกัน
1. Artificial Intelligence (AI) เป็นสมองกลที่ช่วยคาดเดาพฤติกรรม วิเคราะห์ความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลนั้นมา ระบบก็จะให้ในสิ่งนั้นๆ ที่ต้องการ
2. Semantic Web เป็นระบบที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเว็บของผู้พัฒนาและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ให้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งจะทำให้ระบบฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่มากๆ หรืออาจทำให้เกิดฐานข้อมูลโลก (Global Database) ได้
3. Composite Applications เป็นการผสมผสาน Application หรือโปรแกรม หรือบริการต่างๆ ของเว็บ ที่มาจากแหล่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งานนั้นเอง
4.Semantic Wiki เป็นการอธิบายคำๆ หนึ่งคล้ายกับพจนานุกรม (dictionary) ดังนั้นถ้า Web 3.0 เป็น Wiki จะทำให้สามารถหาความหมาย หรือข้อมูลต่างๆ ได้ละเอียด และแม่นยำมากขึ้น
5. Ontology Language หรือ OWL เป็นภาษาที่ใช้ในการอธิบายสิ่งต่างๆ ให้มีความสัมพันธ์กัน โดยดูจากความหมายของสิ่งนั้นๆ ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับระบบ Metadata

ผลกระทบเมื่อWeb3.0 เข้ามา
เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา จะมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้ใช้เว็บ คือในการหาข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องคลิกต่อไปในหลายๆที่อย่างที่เคยเป็นมา ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องจะถูกดึงขึ้นมาแสดงให้เห็น หากผู้ใช้ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต การที่ต้องสำรวจราคาสินค้าด้วยตัวเองก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเว็บจะทำการค้นหาข้อมูลให้เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้จะได้สินค้าที่มีราคาถูกที่สุด เหมาะสมที่สุด และตรงความต้องการมากที่สุดด้วย สำหรับในมุมของธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการจะได้รับผลกระทบเร็วที่สุด เนื่องจากเว็บ3.0 รู้และเข้าใจในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ รูปแบบธุรกิจ (Business Model) แบบเดิมๆ อาจจะไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ธุรกิจอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ดังเช่นตัวอย่างที่ยกไปในข้างต้น คือธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม หากไม่มี Package หรือ promotion ที่ดึงดูดพอธุรกิจนั้นอาจจะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป เป็นความท้าทายสำหรับนักการตลาดด้วย เนื่องจากข้อมูลนั้นจะถูกปิดเป็นความลับน้อยลง อย่างไรก็ตามเมื่อออก promotion มาอย่างน้อยคู่แข่งไม่ต่ำกว่า 3 รายจะต้องรู้ ภายในไม่กี่นาที การแข่งขันด้านธุรกิจจะมีมากและดุเดือดยิ่งขึ้น จากเดิมอำนาจในการซื้อขายที่เคยตกอยู่ในมือของผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการ ตอนนี้จะตกเป็นของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง
สำหรับในส่วนของเว็บไซต์ด้วยกันเองแล้ว เว็บที่เป็น web 3.0 มีโอกาสได้เปรียบกว่าเว็บอื่นๆ เพราะเหมือนกับการเข้าเว็บ เว็บเดียวสามารถได้ในสิ่งที่ต้องการได้ (one stop service) ซึ่งเป็นอะไรที่ผู้ใช้ชื่นชอบอยู่แล้ว เนื่องจากความสะดวกและการตอบสนองสิ่งที่ต้องการได้ตรงจุด แต่สำหรับเว็บ 2.0 ที่มีมากมายในขณะนี้ คาดว่าคงจะไม่หายไปจากวงการเว็บ และคงจะอยู่ต่อไป ถึงจะดูเหมือนจะเป็นจุดอิ่มตัวแล้วก็ตาม เนื่องจากเว็บ 2.0 นั้นเป็นแหล่งให้ข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ใช้ และเว็บ3.0 เองด้วย เพราะเหตุว่าตัวเว็บ3.0 นั้นต้องพึ่งพาเว็บ2.0 ในการใช้ข้อมูลทั้งการเรียนรู้ จนถึงการแสดงผล ตามหลักแล้วเว็บ3.0 นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีเว็บ2.0 นั้นเอง แต่เว็บ2.0 ในอนาคตคงจะไม่ทำอะไรได้แค่การแสดงความคิดเห็น การพูดคุยโต้ตอบกัน และการshare ข้อมูลระหว่างกันเท่านี้แน่นอน อาจจะมีความสามารถเพิ่มขึ้น มีความสามารถในการ share ข้อมูลมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานที่มีมากขึ้นต่อไปในอนาคต หรืออาจจะใช้การ mining ข้อมูลที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาเสนอแก่ผู้ใช้ต่อไปก็ทำได้ ซึ่งจะทำให้เว็บ 2.0 สามารถแข่งขันกับเว็บ3.0 ต่อไปได้ และยั งคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
หากเว็บไซต์ถูกพัฒนาไปจนมีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์แล้วซึ่งอาจจะหมายถึงยุคเว็บ10.0 ในอนาคตคอมพิวเตอร์มีความสามารถถึงขั้นคาดเดาความต้องการของผู้ใช้ไปเองมากจนเกินความจำเป็น จนอาจจะทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นขยะมากกว่าข้อมูลที่ต้องการจริงๆเป็นไปได้ แล้วยิ่งกว่านั้นจะทำให้เกิดข้อมูลล้นระบบ (Over flow) จนเกินการเยียวยาได้ การทำให้เว็บไซต์ซึ่งทำงานออนไลน์อยู่ตลอดเวลามีสมองมีความคิดเป็นของตัวเอง ในการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายกันทั้งโลกนั้น อาจจะส่งผลในทางลบกับระบบจากการก่อกวนของผู้ประสงค์ร้าย การโจรกรรมข้อมูลอาจจะไม่ต้องทำโดยบุคคล แต่ใช้เว็บไซต์ซึ่งมีความสามารถในการมองเห็นข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นเป็นตัวกระทำแทน หรือร้ายกว่านั้น อาจจะเป็นเหมือนฉากในภาพยนตร์ที่มีผู้ที่ใช้ความฉลาดของคอมพิวเตอร์ในทางที่ผิดเป็นผู้ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ผลร้ายจะเกิดกับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตทุกคนอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน
การมองเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นและทุกคนต่างอ้าแขนรับด้วยความยินดีในแง่ลบนี้ เพื่อที่จะต้องมีการป้องกันและควบคุมการพัฒนาเทคโนโลยีให้อยู่ในกรอบที่ดีงามควบคู่กับการพัฒนาในทุกๆสิ่ง ให้อยู่ในมุมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไป

พร้อมหรือไม่สำหรับเทคโนโลยีนี้
ในการปรับเปลี่ยนยุคนี้ถือเป็นการปฏิวัติวงการเว็บครั้งยิ่งใหญ่ สำหรับประเทศไทยจะบอกได้หรือไม่ว่า พร้อมจะกว่าสู่เว็บ 3.0 แล้ว ในส่วนของเทคโนโลยีที่ต้องเพิ่มความสามารถให้กับเว็บนั้น นักพัฒนาเว็บไซต์ของไทยอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก และศักยภาพของนักพัฒนาเว็บไทยคงจะมีเพียงไม่กี่คนที่จะทำได้ภายในเร็วๆนี้ ในรุ่นแรกๆอาจจะอยู่ในส่วนองานวิจัยมากกว่าการเป็นเว็บที่สามารถใช้งานจริงได้ และที่สำคัญเว็บ2.0 ที่เป็นของคนไทยจริงๆนั้น มีอยู่ไม่กี่เว็บที่เป็นที่รู้จักอย่าง pantip และ bloggang เว็บ2.0 ที่มีชื่อเสียงและนิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีแต่เว็บไซต์ที่เป็นของต่างประเทศทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น MySpace Hi5 Blogger Wordpress และอื่นๆอีกมากมาย แต่ในเรื่องการขยาย platform เพื่อรองรับการ share ข้อมูลที่มีมากขึ้นอาจทำได้ในทันทีกับเว็บไซต์ชั้นนำของประเทศ เช่น Sanook หรือ Kapook
และจากพฤติกรรมการใช้เว็บของคนไทยด้วยแล้ว การที่จะทำ blog ของตัวเองให้เกิดเป็นรายได้ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศทำนั้นเป็นไปได้ยาก ด้วยค่านิยมของผู้ใช้ ซึ่งส่วนมากเป็นวัยรุ่น มักจะใช้เว็บเพียงแค่แลกเปลี่ยนข้อมูล พูดคุยกัน และเป็น social network กันเท่านั้น อาจจะเห็นว่าเท่านี้ที่ใช้อยู่ทุกวันก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเว็บ 3.0 ยกเว้นเว็บที่เป็น search engine เท่านั้น
สรุปในตอนนี้ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะทำเป็นเว็บ 3.0 อย่างเต็มรูปแบบ ต้นแบบ (Model) ก็ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน คงจะต้องรออีกสักไม่เกิน 2 ปีที่จะมีต้นแบบ และแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เว็บ3.0 นี้จึงเป็นสิ่งที่นักพัฒนาเว็บไซต์และผู้ใช้จะต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะคงอีกไม่นานต้องมีเว็บไซต์ที่มีความฉลาดมาให้ได้ทดสอบกัน

No comments: